วันศุกร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2558

Political Cartoon 101

 
 
 
การ์ตูนล้อการเมือง 101
 


การ์ตูนการเมือง ( Political Cartoon ) หรือ การ์ตูนบทบรรณาธิการ ( Editorial Cartoon ) คือภาพวาดลายเส้นพร้อมรายละเอียดเชิงตลกล้อเลียน มีจุดมุ่งหมายเพื่อการล้อเลียน เน้นเรื่องราวมากกว่ารูปแบบของสิ่งที่วาด จุดประสงค์เพื่อความสนุกสนาน ในบางครั้งอาจเป็นการแนะนำ หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ เศรษฐกิจ สังคม และ การเมือง นำเสนอในรูปแบบของ การวิพากย์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล บางครั้งอาจสอดแทรกถึงวิธีการแก้ปัญหานั้น จะมีคำบรรยายหรือไม่มีก็ได้ ล้อเลียนเชิงขบขันมากกว่าจะมุ่งทำลาย การ์ตูนนิสต์การเมือง จะต้องสนใจติดตามข่าวสารบ้านเมือง และวิเคราะห์ข่าว แสดงความคิดเห็นทางการเมืองของตนเอง ในรูปของการล้อเลียน การ์ตูนล้อการเมืองได้รับความนิยมจากผู้อ่านเป็นจำนวนมาก ในยุคปัจจุบันนี้หนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับจะต้องมีหน้าการ์ตูนการเมืองแทรกอยู่ด้วยเสมอ
 

 
กำเนิดการ์ตูนล้อการเมือง          การ์ตูนนิสต์การเมืองคนแรกคือชาวอังกฤษ ชื่อ เจมส์ กิลล์เรย์ ( ค.ศ. 1757 – 1815 ) ได้เขียนภาพล้อเลียนพระบรมวงศานุวงศ์ของประเทศอังกฤษ ที่ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ศีลธรรมของชนชั้นสูง และการทำงานของรัฐบาล ทำให้ประชาชนคลายความเครียดจากภาวะสงครามในขณะนั้น ภาพล้อของ กิลล์เรย์ ไม่ได้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ แต่มีวางจำหน่ายในร้านใกล้ๆสวนสาธารณะ ทำให้เป็นที่สนใจของผู้ที่ผ่านไปมา หนังสือที่พิมพ์ภาพล้อการเมืองเล่มแรก คือ นิตยสารฝรั่งเศส ชื่อ CARIVARI ต่อมานิตยสารรายสัปดาห์ของอังกฤษ ชื่อ PUNCH มีบทความการเมืองรวมทั้งมีภาพล้อประกอบ ได้รับความนิยมจากผู้อ่านเป็นอย่างยิ่ง และดำเนินกิจการเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

เส้นทางการ์ตูนการเมืองในประเทศไทย
          สมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จิตรกรที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น คือ ขรัวอินโข่ง เป็นผู้ที่ริเริ่มเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่มีลักษณะเป็นภาพเหมือนจริง ล้อเลียนบุคคล โดยแทรกอารมณ์ขัน แต่ไม่ใช่เป็นผลงานด้านการ์ตูนอย่างแท้จริง เนื่องจากขาดการแสดงออกตามลักษณะของตัวการ์ตูน มีความละเอียดของลายเส้น และแสงเงาชัดเจนเกินไป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบันทึกไว้ในพระราชหัตถเลขา เมื่อ ปี พ.ศ. 2407 ทรงกล่าวถึงช่างวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่แทรกรูปวาดล้อเลียน ข้าราชบริพารไว้หลายรูปด้วยกัน ปี พ.ศ. 2440 (ค.ศ. 1897) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก มีผู้วาดภาพการ์ตูน แทรกภาพข่าวการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้น รวมทั้งพระราชกรณียกิจในสถานที่ต่างๆลงตีพิมพ์ในนิตยสาร วารสาร หนังสือพิมพ์ ใบปลิว ไปรษณียบัตร ปกหนังสือเรียน ฯลฯ พระองค์ทรงโปรดเกล้าให้รวบรวมสิ่งพิมพ์ที่มีภาพวาดลายเส้นล้อการเมือง ที่เปรียบเปรยถึงพระองค์ ส่งกลับมาให้พระบรมวงศานุวงศ์ที่เมืองไทย ปี พ.ศ. 2449 (ร.ศ. 125) มีภาพวาดการ์ตูนเชิงชำชัน โดยวิธีแกะไม้อย่างง่ายๆ ทำแม่พิมพ์คล้ายกับวิธีการของยุโรป ในหนังสือชื่อ สำราญวิทยา และใน จดหมายเหตุแสงอรุณ เมื่อปี พ.ศ. 2450 นอกจากนี้มีชาวต่างประเทศวาดภาพการ์ตูนล้อเลียนชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยสมัยนั้น ในหนังสือพิมพ์ สยามออบเซอเวอร์ (SIAMOBSERVER) รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงสนพระทัยศิลปะการวาดภาพมาก ทรงโปรดเกล้าพระราชทานคำว่า CARTOON จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยว่า ภาพล้อ ในสมัยนี้การ์ตูนล้อการเมืองเริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากพระองค์ทรงสนับสนุน ให้มีการจัดประกวดวาดภาพล้อเลียนขึ้นใน พระบรมมหาราชวัง (พ.ศ. 2468 – 2470) ทำให้การวาดภาพการ์ตูนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
           นอกจากนี้พระองค์ทรงวาดภาพล้อเลียน เพื่อตักเตือนข้าราชบริพารที่ทุจริต ประพฤติมิชอบ ฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ คือ ดุสิตสมัย ดุสิตสมิต และ ดุสิตสักขี การ์ตูนนิสต์การเมืองคนแรกของไทยคือ เปล่ง ไตรปิ่น ซึ่งมีโอกาสเดินทางไปศึกษาวิชาศิลปะการวาดภาพที่ยุโรป ได้นำเทคนิคจากต่างประเทศ วาดภาพการ์ตูนเป็นลายเส้น ได้รับรางวัลการประกวดภาพล้อจาก ร. 6 โดยการเขียนการ์ตูนล้อเลียนนักการเมืองสำคัญๆในยุคนั้น อาทิ เจ้าพระยายมราช พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาพหลพลพยุหเสนา เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ฯลฯ นอกจาการวาดภาพการ์ตูนแล้ว เปล่ง ยังมีความสามารถพิเศษอีกหลายอย่าง เช่น การสร้างกล้องถ่ายรูป การทำแม่แบบพิมพ์ การถ่ายรูป ทำให้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต นอกจากนี้ ชาวญี่ปุ่น ชื่อ ไอ เคียว คาวา ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองไทยสมัยนั้นสนับสนุนให้ นักเขียนการ์ตูน วาดภาพการ์ตูนลงใน หนังสือพิมพ์ยาโมโต สมัยรัชกาลที่ 7 การ์ตูนเริ่มซบเซาเนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดปัญหาการขาดแคลนกระดาษพิมพ์ จนกระทั่งยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2475) วงการการ์ตูนเริ่มฟื้นฟูขึ้นพร้อมกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การ์ตูนนิสต์วาดภาพล้อเลียนจนเกินขอบเขต ทำให้มีกฎหมายของคณะราษฎร์ออกมาควบคุม หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประยูร จรรยาวงศ์ วาดภาพการ์ตูนที่มีตัวแสดงชื่อ ศุขเล็ก ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำตัว เขียนการ์ตูนขำขันและการ์ตูนล้อการเมือง ได้รับรางวัลจากการประกวดการ์ตูนสันติภาพโลก เมื่อ ปี พ.ศ. 2503 ที่นิวยอร์ค ชื่อภาพ การทดลองระเบิดปรมาณูลูกสุดท้าย ( The Last Nuclear Test ) และได้รับรางวัลแมกไซไซ ที่ ประเทศฟิลิปปินส์ ยุคเผด็จการครองเมือง ศุขเล็ก ถูกสั่งห้ามเขียนการ์ตูนล้อเลียนการเมือง เนื่องจากการวาดภาพวิจารณ์นักการเมืองที่มีอำนาจในยุคนั้น จึงได้เปลี่ยนแนวมาวาดภาพการ์ตูนในคอลัมน์ ขบวนการแก้จน ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
 
 
 
ยุคทองของการ์ตูนล้อการเมือง           หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มีหนังสือพิมพ์เพิ่มขึ้นใหม่อีกหลายชื่อ ทำให้มีการ์ตูนนิสต์การเมืองที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นอีกหลายคน เช่น ชัย ราชวัตร (สมชัย กตัญญตานนท์) เขียนการ์ตูนการเมืองชุด ผู้ ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
           หมื่น (ชูชาติ หมื่นอินกุล) ในหนังสือพิมพ์มติชน
           อรุณ วัชระสวัสดิ์ ในหนังสือพิมพ์มติชน และ The Nation
           เซีย (ศักดา เอียว) ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
           บัญชา - คามิน ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
           พล ข่าวสด (สุรพล พิทยาสกุล) เริ่มเขียนการ์ตูนการเมืองสมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด เรื่อง หนูนากับป้าแจ่ม ตัวละคร หนูนา มาจาก กัญจนา ศิลปอาชา และ ป้าแจ่ม คือ คุณหญิงแจ่มใส
           ในอดีตนักวาดการ์ตูนล้อการเมืองและหนังสือพิมพ์ มักจะถูกดำเนินคดีอาญาหรือถูกคุกคามจากผู้มีอำนาจในยุคนั้น หนังสือพิมพ์หลายฉบับถูกสั่งปิดโดยรัฐบาล เนื่องจากภาพการ์ตูนที่แม้จะไม่ได้มีการระบุชื่อ แต่ลายเส้นการ์ตูนที่แสดงถึงเอกลักษณ์เฉพาะบุคคล ก็ทำให้รู้ว่าเป็นใคร ในยุคข่าวสารไร้พรมแดนเช่นในปัจจุบัน ทำให้เสรีภาพของการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมีมากขึ้น การ์ตูนนิสต์ได้มีโอกาสแสดงศิลปะการวาดภาพลายเส้น ล้อเลียนได้อย่างมีอิสระ คอลัมน์การ์ตูนการเมืองในหนังสือพิมพ์ภาษาไทย และภาษาต่างประเทศเกือบจะทุกฉบับ จึงเป็นเสน่ห์และแรงดึงดูดใจสำหรับผู้ที่สนใจในอารมณ์ขันและมุมมองต่อข่าวของผู้วาดการ์ตูน.

บรรณานุกรม
สำนักงานหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ไกรฤกษ์ นานา “จาก - เรื่องตลก การ์ตูน ร.5 เสด็จประพาสยุโรป ถึง – เรื่องไม่ตลก
งานพระบรมศพ ร.5 ผิดองค์” ศิลปวัฒนธรรม 24, 11 (ก.ย. 2546) 60 - 69
ชัย ราชวัตร “การ์ตูนไทยกับลายเส้นอารมณ์ดี” สารคดี 16, 63 (พ.ค. 2357)
ประเสริฐ มาสปรีด์ “ความเป็นมาของคำว่าการ์ตูน” ว.ห้องสมุด 23, 4-6
(ก.ค. - ธ.ค. 2522) 348-354
ภูวดล สุวรรณดี “การ์ตูน อารมณ์ขันที่ไม่มีวันตาย” สื่อสัมพันธ์นิเทศสาร 2, 2
(2538) 102-112
วรรณพงษ์ หงษ์จินดา “การ์ตูนการเมือง เรื่อง SERIOUS หรือขำขัน”
ศิลปวัฒนธรรม 16, 9 (ก.ค. 38 ) 59-60
“สเน่ห์การ์ตูนญี่ปุ่น การครอบงำวัฒนธรรมแบบใหม่” สยาม อารยะ 1, 1
(ก.ค. 2535) 90-93
                  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น